ประวัติวัดบ้านปาง
ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
……………………….
วัดบ้านปาง ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีวิชัย(เดิมเป็นตำบลแม่ตืน) ตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่เรียกว่า บ้านปาง ห่างจากที่ว่าการอำเภอลี้ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ซึ่งเป็นตำบลที่อยู่ด้านทิศเหนือของอำเภอลี้ มีเขตติดต่อกับอำเภอบ้านโฮ่ง
บนถนนสายลำพูนที่จะมุ่งหน้าไปอำเภอลี้ เมื่อผ่านอำเภอบ้านโฮ่งไปไม่ไกลนักก็จะถึงบ้านปาง หมู่บ้านซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของนักบุญแห่งล้านนา “ครูบาศรีวิชัย”วัดบ้านปางตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ ลูกหนึ่ง บริเวณด้านหน้าของวัดมีบันไดนาคขึ้นไปสู่วัด วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดที่ครูบาศรีวิชัยได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้น ภายในวัดจะร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ทั้งไม้พุ่ม ไม้ดอกหลากหลายชนิด ที่สำคัญในบริเวณวัดยังมีโบราณสถานอันเก่าแก่เมื่อครั้งสมัยที่ครูบาศรีวิชัยยังมีชีวิตอยู่ก็คือพระวิหารหลวง สร้างขึ้นตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมล้านนามีลักษณะอ่อนช้อยสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากพระวิหารหลวงแล้วยังมีปราสาทหินอ่อนซึ่งสร้างขึ้นตรงสถานที่ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ ใกล้ ๆ กันยังมีพิพิธภัณฑ์บริขารครูบาเจ้าศรีวิชัย เก็บรวมรวบรูปภาพเก่าและข้าวของเครื่องใช้ที่ครูบาศรีวิชัยเคยใช้ เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่
วัดบ้านปางเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน สร้างขึ้นมาเมื่อประมาณร้อยปีก่อน คือเริ่มสร้างวัดเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2444 จนเมื่อครูบาศรีวิชัยอายุได้ 24 ปี ท่านได้นำพระเณรและศรัทธาชาวบ้านร่วมกันสร้างวัดขึ้นโดยได้ขอให้นายควาย โยมบิดาเป็นผู้แผ้วถางเป็นปฐมฤกษ์ให้เกิดความเป็นสิริมงคล ต่อจากนั้นพระเณรและศรัทธาชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันปรับสถานที่บนเนินเขาให้เป็นที่ราบ ในการสร้างและบูรณะวัดบ้านปางในสมัยนั้นเป็นไปอย่างล่าช้า ยากลำบากเพราะขาดเครื่องมือที่จำเป็น
รองเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง กล่าวว่า เมื่อก่อนนั้นวัดบ้านปางจะตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน ซึ่งท่านครูบาศรีวิชัยเล็งเห็นว่าเมื่อหมู่บ้านเริ่มเจริญมากขึ้นอาจทำให้วัดเกิดความไม่สงบ เนื่องจากถูกบ้านเรือนตั้งอยู่ล้อมรอบ ดังนั้นท่านครูบาจึงได้ไปสร้างวัดใหม่อยู่บนยอดเขาใกล้ ๆ หมู่บ้าน โดยเมื่อท่านมาถึงได้สร้างเขตกำแพงหินของวัดก่อนเป็นอันดับแรก โดยมีชาวบ้าน ชาวลัวะ ชาวกะเหรี่ยงร่วมกับคนเมืองท้องถิ่นได้ช่วยกันนำหินคนละก้อน สองก้อนมาก่อเรียงเป็นกำแพงหิน รอบพื้นที่วัด ประมาณความยาวได้กว่า 2 กิโลเมตร
รองเจ้าอาวาสยังบอกว่า “กำแพงหินนี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งก่อสร้างตั้งแต่สมัยครูบาศรีวิชัยขึ้นมาสร้างวัด ซึ่งหลงเหลือมาจนปัจจุบัน อันเป็นความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านที่มีความศรัทธาต่อตัวครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งบางคนก็หอบลูกสะพายหลานไว้ข้างหลังมาช่วยกันขนหิน ชาวลัวะที่มีช้างก็นำช้างมาช่วยกันลากหินปรับพื้นที่ บางคนที่ไปช่วยกันขนหินในห้วยแม่ลอง ถือเป็นแรงศรัทธาอันยิ่งใหญ่”
หลังจากนั้นครูบาศรีวิชัยและศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย จึงได้ช่วยกันก่อสร้างวิหาร กุฏิ พระเจดีย์ โดยเฉพาะพระเจดีย์วัดบ้านปางนั้น รองเจ้าอาวาสกล่าวว่า ครูบาศรีวิชัยได้ไปเห็นพระธาตุหลวงลำพูน ก็คือ พระธาตุหริภุญชัย แล้วอาศัยจำแบบมาก่อสร้างเจดีย์วัดบ้านปาง นอกจากนั้นเมื่อท่านได้จาริกไปบูรณะวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือครูบาศรีวิชัยก็ได้ไปสร้างเจดีย์วัดต่าง ๆ ตามแบบของพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งอาจเป็นคติในเชิงความหมายว่า ท่านต้องการให้พระธาตุหริภุญชัยเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่พุทธศาสนาออกไปทั่วภาคเหนือ อีกความหมายหนึ่งก็อาจเป็นการประกาศให้รู้ว่าตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้นเป็นพระจากเมืองลำพูน
กระทั่งเมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วพระเณรบางส่วนจึงได้ย้ายขึ้นไปอยู่บนวัดใหม่แห่งนี้ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “วัดจ๋อมศะหรีทรายมูลบุญเรือง” แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเรียกว่า “วัดบ้านปาง” ซึ่งวัดนี้มีอาณาบริเวณพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 160 ไร่ ในบริเวณเขตพุทธาวาสจะมีกำแพงก่อด้วยหินล้อมรอบถึง 4 ชั้น ซึ่งเป็นความคิดของครูบาศรีวิชัยที่พยายามจะจัดให้วัดนี้เป็นอรัญวาสี (วัดป่า) โดยครูบาศรีวิชัยได้แนวคิดมาจากที่ได้เห็นพระฤาษีก่อกำแพงหินล้อมรอบอาศรม ซึ่งปัจจุบันคือ ม่อนฤาษี ซึ่งอยู่ได้ห่างจากวัดบ้านปาง และที่สำคัญท่านไม่ต้องการที่จะทำลายธรรมชาติ จึงได้ให้ชาวบ้านนำหินมาตั้งเรียงซ้อนกันจนเป็นแนวกำแพง
นอกจากในบริเวณวัดจะมีศาสนสถานที่สำคัญต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่ดึงดูดให้ผู้ศรัทธาเดินทางมาเที่ยวยังวัดบ้านปางก็คือ “พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารของครูบาศรีวิชัย” พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นเป็นอาคารคอนกรีตสองชั้นปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน ชั้นบนมีรูปปั้นเหมือนจริงของครูบาศรีวิชัยทำจากขี้ผึ้งทั้งองค์ในลักษณะท่านั่ง นอกจากนั้นยังมีภาพเก่าของครูบาศรีวิชัยเมื่อครั้งที่ท่านจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งถ้วยชามของเก่าของท่านที่เคยใช้มาก่อน ในชั้นนี้ยังมีปราสาทห้ายอดที่เคยบรรจุโลงศพและโกศบรรจุอัฐิของท่านนำมาจัดแสดงให้ผู้สนใจได้ชม ซึ่งทุกวันจะมีศรัทธาประชาชนเดินทางมากราบไหว้ของพรจากรูปปั้นครูบา
ในบริเวณชั้นล่างของอาคาร จัดแสดงเครื่องใช้ถ้วยชามและของใช้สมัยเก่าที่หาดูหาชมได้ยาก อาทิ รถยนต์คันแรกที่ท่านเคยนั่งขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ เมื่อตอนที่สร้างทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพฯแล้วเสร็จใหม่ นอกจากนั้นยังมีรถสามล้อถีบของหลวงอนุสารสุนทรที่ใช้ใส่อาหารเพื่อถวายครูบาศรีวิชัยเมื่อครั้งที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดพระสิงห์ แต่ที่หาดูได้ยากได้แก่ เตียงนอนของครูบาศรีวิชัยและเสลี่ยงหาม พาหนะสำหรับเดินทางจาริกไปในวัดต่าง ๆ ทั่วภาคเหนือ
นับได้ว่าพิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารครูบาศรีวิชัย ที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ นั้น เป็นสิ่งที่หาชมได้ยากมาก เพราะของใช้ต่าง ๆ ของท่านครูบาจะถูกนำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แห่งเดียวเท่านั้น ทุกวันนี้วัดบ้านปางจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของครูบาศรีวิชัย เพราะนอกจากจะเป็นวัดที่ท่านและชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างขึ้นแล้ว ที่หมู่บ้านปางยังเป็นภูมิลำเนาและสถานที่เกิดของท่านอีกด้วย
ดังนั้นหากใครที่มาเยือนวัดแห่งนี้ ก็เปรียบเสมือนการได้เข้ามาเยือนมาสักการะครูบาศรีวิชัยด้วยเหมือนกัน