เกษตรอินทรีย์
คือการทำการเกษตรด้วยกรรมวิธีทางธรรมชาติ โดยที่พื้นที่ที่ทำเกษตรนั้น ต้องไม่มีสารพิษ หรือสารเคมีตกค้างและหลีกเลี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมีทั้งทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อความสมบูรณ์ทางชีวภาพในระบบนิเวศน์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามสมดุลของธรรมชาติให้มากที่สุด โดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ หรือสิ่งที่ได้มาจากการตัดต่อพันธุกรรม และมุ่งเน้นการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบในการผลิตภายใต้มาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้ผลผลิตสูง อุดมด้วยคุณค่าทางอาหารและปลอดสารพิษ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต และสามารถประยุกต์ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเพื่อคุณภาพชีวิต และสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
การทำเกษตรอินทรีย์ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้มากขึ้น ช่วยให้มีรายได้ที่สูงขึ้นตามมา เนื่องจาก ประชาชนทุกวันนี้หันมาให้ความใส่ใจทางด้านสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องอาหารการกินที่ต้องปราศจากสารพิษใด ดังนั้น การเลือกซื้อผลผลิตทางการเกษตร ประชาชนจึงมักเลือกซื้อผลิตจากแปลงเกษตรอินทรีย์มากกว่าการเกษตรในรูปแบบอื่นที่มีสารเคมีมาเกี่ยวข้อง นอกจากนั้น หากได้รับรองมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ก็ย่อมสร้างความน่าเชื่อถือในผลผลิตมากขึ้น ทั้งในรูปแบบเกษตรกรรายเดี่ยว กลุ่มเกษตรกร และหน่วยงานผู้ประกอบการ
รายได้ส่วนหนึ่งนอกเหนือจากการขายสินค้าได้มากแล้ว ยังเป็นผลมาจากการประหยัดต้นทุนการผลิต เนื่องจากรูปแบบเกษตรอินทรีย์ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งปัจจัยการผลิตจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี หรือสารกำจัดศัตรูพืช แต่จะใช้ทรัพยากรที่หาได้ในท้องถิ่นแทน ซึ่งมีราคาถูกหรือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อาทิ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด สารสกัดจากพืชสำหรับฉีดป้องกันแมลง เป็นต้น