ตุง ล้านนา

ตุง ล้านนา

       เครื่องใช้ในการประดับหรือใช้ในการประกอบพิธีกรรมอย่างหนึ่งของคนล้านนา คำว่า “ตุง” ตรงกับภาษาบาลีว่า “ปฏากะ” หรือ ธงปฏาก มีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุทำจากผ้าหรือไม้ก็ได้ ส่วนปลายจะแขวนห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา ตุงมีบทบาทและความเป็นมาที่ยาวนาน ดังที่พบในศิลาจารึกที่วัดพระยืน จังหวัดลำพูน ตอนหนึ่งว่า “วันนั้นตนท่านพญาธรรมิกราชบริพารด้วยฝูงราชโยธามหาชน ลูกเจ้า ลูกขุน มนตรี ทั้งหลายยายกัน ให้ถือช่อธง ข้าวตอกดอกไม้ไต้เทียน ตีพาดดังพิณ ฆ้องกลอง ปี่สรไนพิสเนญชัยทะเทียด กาหล แตรสังข์ มานกังสดาร” ซึ่งหมายความว่า ในปี พ.ศ.1913 นั้น “เจ้าท้าวสองแสนมา” หรือ พญากือนา เมืองเชียงใหม่พร้อมด้วยข้าราชบริพารไปรอต้อนรับพระสุมนเถระซึ่งมาจากสุโขทัย ก็ได้ยืนเรียงรายกันถือเครื่องสักการะต่าง ๆ เช่น ถือช่อ คือธงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก และถือธง หรือ ตุง ไปรอต้อนรับและในขบวนยังมีการบรรเลงดนตรีด้วยเครื่องดนตรีต่างๆ

       ตุงที่พบในล้านนาส่วนมากจะทำมาจากผ้า กระดาษ ไม้ โลหะ ทองเหลืองหรือใบลาน ความเชื่อของคนล้านนาเชื่อว่า ตุงเป็นสิ่งหนึ่งที่มีส่วนร่วมอยู่ในประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อ ที่ทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ใช้ในงานพิธีทางศาสนา ทั้งในงานมงคลและอวมงคล โดยจะมีขนาดรูปทรงและรายละเอียดแตกต่างกันไป รวมถึงความเชื่อ พิธีกรรมตลอดจนความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย

 

 

 

“ตุง” ทำขึ้นมาเพื่อเป็นพุทธบูชาและใช้ในพิธีกรรมต่างๆมาแต่โบราณนานมา ชาวล้านนามีความเชื่อต่อตุงทำให้พิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง การทำตุงถวายเป็นพุทธบูชาถือเป็นสิ่งปรารถนาสูงสุด เป็นบุญกุศลยิ่งใหญ่เพื่อให้ตนเองได้ขึ้นสวรรค์ และที่สำคัญ…ตุงยังมีความใหญ่กว่า ยาวกว่า ในส่วนหัวตุงจะทำด้วยไม้วางเรียงกันแล้วผูกด้วยด้าย ตัดเป็นรูปกาแล…สะท้อนเอกลักษณ์ของตุงจังหวัดลำพูน โดยในตำบลศรีวิชัยจะมีกลุ่มแม่บ้านหรือผู้ที่สนใจร่วมกันทำตุงเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆของหมู่บ้าน และฝึกฝนเพื่อใช้ประกอบอาชีพ

 

Categories: ผลิตภัณฑ์ชุมชน